กันยายน 24, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 167 : คุณเศรษฐา ทวีสิน กับ การก้มหน้าก้มตาอ่านสคริปบนเวทีระดับโลกครั้งแรกที่งานประชุม UNGA

ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ หรือ UNGA และเป็นโอกาสแรกที่ได้ขึ้นพูดบนเวทีระดับโลก

บทเรียนนี้เราจะได้วิเคราะห์และเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาษากายของการพูด โดยเฉพาะในฐานะของผู้นำ (Leader)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
ภาษากายของคุณเศรษฐา ทวีสิน

ตาม VDO ที่ปรากฎจะพบว่าท่านนายกได้ใช้เวลาพูดทั้งหมดรวม 3 นาทีโดยรวมจะมีลักษณะดังนี้

  • ท่านพูดเป็นภาษาอังกฤษโดยการอ่านสคริปต์
  • ยืนหลังโพเดียม โดยมีไมโครโฟนกลางตั้งไว้ให้

หลังจากที่ได้ดูทั้ง 3 นาที เราจะพบท่านนายก “อ่าน” สคริปต์ให้กับผู้เข้าประชุมและอ่านคำต่อคำในลักษณะลากนิ้วทีละคำทีละบรรทัด และมีหลายจังหวะที่การอ่านของท่าน “ตกร่อง” หรือ เว้นจังหวะแบบตกๆ หล่นๆ ซึ่งมักพบบ่อยในกรณีที่ไม่ได้ฝึกอ่านมาอย่างเพียงพอ

โดยพื้นฐานการใช้ภาษาอังกฤษของท่านนายกถือว่าดีมากๆ เพราะท่านเรียนจบเมืองนอกและในบทสัมภาษณ์เก่าที่ท่านพูดตอบเป็นภาษาอังกฤษ (ลิงค์) ก็แสดงชัดเจนว่าท่านก็มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับ Fluent คือคล่องแคล่ว

แต่ทันทีที่ท่านต้องพึ่งสคริปต์ในการอ่านทำให้ภาพพจน์เปลี่ยนไปเพราะทำให้ดูเป็นคนไม่เก่งภาษาและขาดสง่าราศีอย่างที่ควรจะเป็นในฐานะผู้นำระดับประเทศ

อีกทั้งการ “ก้มอ่าน” ชนิดคำต่อคำ ทำให้ท่านนายกไม่สามารถใช้มือช่วยในการสื่อสาร (illustrator) และไม่สามารถสบตาผู้ฟังได้ (Lack of eyes contact) ในส่วนของการสบตานี้ส่งผลเสียหลายประการ เช่น บุคลิกที่อาจจะเสียไป ทำให้ภาพรวมส่งผลให้ดูขาดความมั่นใจ ดูไม่มีความพร้อมในการพูด หรือ ไม่ได้เตรียมตัวมาเท่าที่ควร ไม่ใส่ใจ และไม่สามารถ Connect หรือ Rapport กับผู้ฟังได้

ในหลายเวทีที่ผู้พูด หรือ ผู้ปราศรัยต้องใช้โพย หรือ สคริปต์ในการช่วยพูดและก้มหน้าก้มตาอ่าน ผู้ที่นั่งฟังอยู่ก็จะให้ความสนใจน้อยตามไปด้วย อาจจะยกมือถือขึ้นมาปัด นั่งคุยกัน ลุกไปที่อื่น หรือ เอางานอื่นขึ้นมาทำ ทำให้บรรยากาศในการพูดนั้นไร้พลัง

สรุป

การพูดครั้งแรกและครั้งสำคัญของท่านนายกในครั้งนี้โดยรวมถือทำได้ต่ำกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง (Under expectation) และต่างจากนายกคนก่อนเพียงจากการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น

ย้ำว่าการสื่อสารผ่านการอ่านสคริปต์คำต่อคำเช่นนี้ไม่มีทางจะก่อให้เกิดบุคลิกและการสื่อสารที่ดี แต่ข่าวดีคือการสื่อสารเป็นทักษะที่พัฒนาและเรียนรู้ได้ ถ้าได้ฝึกฝนและเรียนรู้อย่างถูกต้อง ร่วมกับการเข้าใจภาษากายที่เหมาะสม ทุกคนก็จะสามารถพูดอย่างสง่างามและน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาทั่วไปหรือผู้นำประเทศ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

2 Responses

  1. Siraprapa Khambai พูดว่า:

    มีประโยชน์มากค่ะ โดยส่วนตัวเคยเป็นทั้งผู้ฟังและผู้บรรยาย หากเราได้ฟังจากคุณที่มีความรู้ลึกรู้จริงจะน่สนใจมาก กว่ามาอ่านให้ฟัง
    ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *