สิงหาคม 8, 2024

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 174 : ยักไหล่ คืออะไร ทำไมพรรคก้าวไกลต้องยักไหล่ ?

หลังจากที่พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคก็มีโพสของคุณธนาธรปรากฎดังภาพ โดยมีเนื้อหาคือ

ยักไหล่ แล้วไปต่อ – ไปไหน? ผมแอบฝันลมๆ แล้งๆ มาตลอด ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ถูกยุบ หลายเดือนที่ผ่านมา เดินสายต่างจังหวัด พบปะกับผู้คนเมื่อไหร่ ก็บอกกับ ทุกคนว่า ไม่ต้องกังวล ยักไหล่ แล้วเดินต่อไป การยุบพรรคทำอะไรพวกเราไม่ได้ แต่ในใจก็หวั่นไหว และกังวลพอสมควร

บทความนี้ผมจะพูดถึงภาษากายที่เรียกว่า “ยักไหล่” สักหน่อย

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

การยักไหล่ หรือ Shoulder Shurg เป็นภาษากายอย่างหนึ่งที่อาจจะเรียกว่าสากลก็ได้ เพราะเป็นภาษากายที่เราพบเห็นได้ในหลากหลายเชื้อชาติ หรือจะบอกว่าเป็นภาษากายที่จำเพาะกับวัฒนธรรมก็ได้แต่มีการแพร่หลายเหมือนจะเป็นสากลไปแล้ว

การยักไหล่ หรือ Shoulder Shurg นี้มีความหมายว่า ฉันไม่แคร์ , ฉันไม่สน , หรือถ้าเป็นคำพูดก็อาจจะเป็นทำนองว่า ฉันทำดีที่สุดแล้ว , จะให้ฉันทำอย่างไรล่ะ เป็นการแสดงทางอ้อมออกมาว่า เพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ หรือปฎิเสธก็ได้ บางแง่มุมอาจจะเป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจ ทรนงและหยิ่งยโสก็เป็นได้ ซึ่งในการตีความจำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทควบคู่กันเสมอ

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล คำว่ายักไหล่ที่คุณธนาธรต้องการจะสื่อออกมา น่าจะเป็นในทำนองว่าฉันไม่สน หรือฉันไม่แคร์ ซึ่งถ้าใครติดตามการเมืองมาอย่างสม่ำเสมอจะทราบดีว่ากลุ่มการเมืองกลุ่มนี้จะคอยถูกขัดแข้งขัดขาอยู่เสมอและครั้งนี้ก็เช่นกัน คุณธนาธรจึงต้องการสื่อว่าเขาไม่แคร์และพร้อมที่จะตั้งหน้าตั้งตาต่อสู้ต่อไป

ที่น่าสนใจคือมีบางมุมมอง มองว่าเค้าไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคจะใช้คำว่า “ยักไหล่” มันเหมือนกับเป็นการทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็ก ทั้งที่เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ใหญ่และควรลุกขึ้นต่อสู้และต่อต้านอย่างเต็มที่ เพราะการยักษ์ใหญ่อาจจะเป็นการเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมซึ่งจริงๆ ควรจะกัดฟันลุกขึ้นมาสู้มากกว่า

ปล.พักหลังนี้เราเริ่มจะเห็นศัพท์ทางภาษากาย และการพูดถึงภาษากายของนักการเมืองมากขึ้นตามสื่อข่าว ส่วนหนึ่งผมดีใจที่ผู้คนเริ่มเห็นความสำคัญและเข้าใจว่าภาษากายเป็นการสื่อสารที่สำคัญอย่างมากอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่บางครั้งก็แอบกังวลเพราะบางท่านอาจจะตีความผิด หรือ ให้ความหมายที่ไม่ถูกต้องจนผิดเพี้ยนได้ เพราะภาษากายก็เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและอาศัยประสบการณ์และความรู้ในการตีความ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *