สีหน้า (Facial expression) เป็นกลุ่มภาษากายที่มีความน่าเชื่อถือสูงและมีงานวิจัยรองรับมากมาย เป็นภาษากายสำคัญที่เราสามารถเอามาใช้สังเกตและวิเคราะห์สภาวะของอารมณ์ของคนได้อย่างแม่นยำ
ในเคสนี้เป็น VDO ที่ขึ้นพาดหัวข่าวว่า ‘เศรษฐา’ กลับถึงไทย สรุปภารกิจประชุม UNGA – ของขึ้นฉุนสื่อถามปม ‘ทักษิณ’ ถูกตีความไปไกล เราจะมาเรียนรู้กันว่าจริงๆ แล้วบุคคลใน VDO มีอารมณ์ “ฉุน” จริงๆ หรือไม่อย่างไรผ่านภาษากาย บทเรียนนี้จึงมีประโยชน์ในแง่มุมของการฝึกสังเกตสีหน้า และนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตจริงของทุกท่าน
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
นาที 1:30 คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้หันไปทางขวามือพร้อมกับพูดว่า “โทษครับ ปิดเสียงนิดนึงได้ไหมครับ”
หลังจากพูดเสร็จพบสีหน้าและภาษากายดังต่อไปนี้
- ขากรรไกรล่างเคลื่อนมาด้านหน้า (Jaw protusion)
- กัดฟันแน่น (Clenching)
- รูจมูกมีการขยายใหญ่ขึ้น (Nasal flare)
- จมูกย่นเล็กน้อย (Nose wrinkler) จากกล้ามเนื้อ Levator labii superioris, alaeque nasi
- ริมฝีปากบางลงเพราะเกร็งรอบปาก (Lip tightener) จากกล้ามเนื้อ Orbicularis oris
- ตอนก้มหน้าอ่านกระดาษในมือจะพบการเม้มปากในลักษณะ inward lip roll การเม้มปากเป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการสะกดอารมณ์ลบ หรือ กลั้นอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น (Conceling strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์
สีหน้าของคุณเศรษฐาปรากฏรวมเป็น Anger ร่วมกับ Disgust คือเป็นสีหน้าของอารมณ์ของความโกรธและเกลียดผสมกัน ทั้งนี้ความรุนแรง (intensity) อาจจะไม่สูงแต่อยู่ในระดับปานกลางที่สังเกตได้ สีหน้าแบบนี้มักจะเป็นเพราะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด หรือ ไม่ชอบใจ
และถ้าดูต่อมาจะพบว่าท่านนายกหยุดพูดและเอากระดาษขึ้นมาดู ซึ่งถ้าเราเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันจะสามารถตีความได้ว่าท่านนายกไม่พอใจที่มีเสียงดังทำให้รบกวนการแถลงข่าวของท่านเสียจังหวะไป
ในส่วนนี้เราล้วนเข้าใจได้ ไม่มีใครชอบที่ถูกรบกวนเวลากำลังพูดเรื่องสำคัญ แต่เราจะแสดงออกในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามทัศนคติและตัวตนของแต่ละคน
นาที 1:35 นายกพูดว่า “มีการประชุม มีการพบปะกับ (*) ผู้นำหลายประเทศ”
ในจังหวะ (*) จะสังเกตการหายใจเข้าที่ลึก (Deep breath) และได้ยินชัดมากๆ ในนาที 1:38
การหายใจลึกมักสัมพันธ์กับอาการตื่นเต้น ซึ่งเกิดได้ควบคู่กับหลายอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ เสียใจ หรือดีใจ เพราะร่างกายจะเกิดการเผาผลาญที่สูงขึ้นจากฮอร์โมนหลายอย่างได้ถูกขับออกมา ซึ่งในเคสนี้ผมคิดว่าสัมพันธ์กับอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
นาที 1:41 มีเสียงแทรกมาและนายกก็แสดงสีหน้าแบบเดิมที่ปรากฏตอนต้น พร้อมกับใช้มือซ้ายขึ้นมาตบกับไมค์ ในจังหวะนี้ผมไม่คิดว่าท่านต้องการทดสอบว่าไมค์เสียงออกหรือไม่ แต่เหมือนต้องการสั่งให้ต้นเสียงที่มาแทรกนั้นหยุดส่งเสียง หรือ หยุดรบกวนเสียที
นาที 9:20 ตอนที่นักข่าวพยายามจะถามถึงความเป็นไปได้ของการตั้งอดีตนายกทักษิณมาเป็นที่ปรึกษา
คุณเศรษฐาตัดบทนักข่าวและตอบว่า “คุณตีความ คุณอย่าตีความ คุณฟังที่ผมพูดสิครับ”
ก็จะพบสีหน้าของ Anger & Disgust ดังที่ผมบรรยายไว้ และเพิ่มเติมคือจะพบกล้ามเนื้อระหว่างคิ้วหดตัว คิ้วหดมาชิดกัน และ ขอบตาบนหดเกร็งทั้งหมดเกิดจากกล้ามเนื้อโดยรอบ ได้แก่ Depressor glabellae: depressor supercilli: corrugator , Levator palpebrae superioris และ Orbicularis oculi, pars palebralis
ในจังหวะนี้สังเกตว่ากล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับอารมณ์โกรธจะแสดงออกมาชัดขึ้นกว่าตอนต้นจึงประเมินได้ว่าอารมณ์ Anger มีสัดส่วนที่สูงขึ้น ร่วมกับการสิ้นสุดการแถลงข่าวทันทีจึงบอกได้ว่าโกรธและมีความไม่พึงพอใจค่อนข้างมาก
สรุป
ในเคสนี้เราจะเห็นว่าสีหน้า (Facial expression) เป็นหน้าต่างของอารมณ์ อารมณ์ที่เกิดในใจแสดงออกมาผ่านภาษากายได้ชัดเจนเพราะอารมณ์ ความคิด และร่างกายสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก การที่สื่อข่าวใช้คำว่า “ฉุน” ผมคิดว่าค่อนข้างตรงเลยทีเดียว เพราะดูเหมือนท่านนายกจะฉุน หรือ หงุดหงิดตั้งแต่ช่วงแรกที่มีเสียงรบกวนจนถึงช่วงท้ายที่มีคำถามที่เขาฟังแล้วโกรธและไม่อยากจะคุยต่อ
ทางสื่อข่าวจึงพูดถึงนายกเศรษฐาในทำนองว่าขี้โมโห หรือ หน้ามุ่ย ก็อาจจะเพราะสังเกตจากการสื่อสารและภาษากายที่ปรากฎของเขาเอง
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น