กุมภาพันธ์ 14, 2022

ถอดรหัสภาษากายเคสที่ 82 : CEO ที่จับผิดภรรยาได้จากภาษากาย การสังเกตความผิดปกติในความปกติ

from : https://www.sanook.com/men/72957/

เรื่องนี้ผมได้เล่าเป็นประจำเมื่อผมไปบรรยาย และช่วยให้ทุกท่านที่สงสัยถึงความสำคัญของภาษากาย และการนำเอาไปใช้ รวมถึงข้อซักถามที่หลายท่านถามมว่ามันมีความแม่นยำเพียงใด ?

ก่อนที่ผมจะตอบคำถามข้างต้น ผมขอเล่าเรื่องราวสั้นๆของ CEO ท่านหนึ่งที่บังเอิญสามารถจับผิดภรรยาได้จากการสังเกตภาษากาย (เรื่องเล่านี้ผมได้ฟังมาจากอาจารย์ท่านหนึ่งของผมชื่อคุณแจ็ค)

เพื่อนของผมครั้งหนึ่งเขาได้รับเชิญให้ไปสอนภาษากายแก่พนักงานบริษัทกลุ่มหนึ่ง (เรื่องนี้เกิดก่อนโควิดระบาด น่าจะช่วง คศ.2018-19) เป็นบริษัทประกันภัย หรือ บริษัทการเงิน (ผมจำไม่ได้ และจำไม่ได้ว่ารัฐไหนด้วย) คอร์สที่เขาจัดไปสอนเป็นหลักสูตรระยะสั้นเรียนเพียง 1 วัน เนื้อหลักจะเป็นพื้นฐานของภาษากายและเน้นการวิเคราะห์เพื่อจับโกหก

หลังจากเขาได้สอนไป ราว 2-3 สัปดาห์ถัดมา เขาได้รับอีเมลจาก CEO ของบริษัท (คอร์สนี้ CEO เขาก็มานั่งเรียนด้วย) ว่าขอบพระคุณสำหรับความรู้และเทคนิคการสังเกตคน และเขาต้องการมาอัพเดทว่าเขาสามารถจับผิดภรรยาได้ และพบว่าเขากำลังคบชู้ ช่วงนี้กำลังจัดการกันเรื่องหย่า

เรื่องของเรื่อง คือ หลังจากที่เขาได้เรียนการสังเกตคนเพื่อจับโกหก เขาก็เริ่มสังเกตคนรอบข้างมากขึ้นด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป รวมถึงการสังเกตคนใกล้ชิด คือ ภรรยาของเขาและเพิ่งสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่เขาบอกรักภรรยาว่า “ที่รัก…ผมรักคุณ” ภรรยาจะตอบกลับว่า “ฉันก็รักคุณเช่นกัน” ทั้งนี้ภาษากายของภรรยาเขามีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับคนกำลังโกหก ได้แก่ภรรยามักจะมองต่ำ หรือ มองไปทางอื่น พร้อมกันนั้นเขามักจะยกมือขึ้นมาขยี้จมูกคล้ายท่าคัดจมูกเป็นประจำ (ตัวอย่างดังภาพข้างล่าง และบทความเต็มอยู่ในลิ้งนี้)

แต่เนื่องจากเขาทราบว่าตามหลักภาษากาย (ที่เขาเพิ่งเรียนมา) ว่าต้องระมัดระวังในการตีความ และไม่ควรตัดสินถ้าข้อมูลไม่มากพอ เขาจึงเก็บข้อมูลเพิ่มและสังเกตเพิ่มในวันถัด ๆ ไป และพบว่าทุกครั้งที่เขาบอกรักภรรยา 7 ใน 10 ครั้งภรรยาของเขาแสดงภาษากายออกมาแบบนั้น ในรูปแบบคล้ายคลึงกัน

ทำไมภรรยาของเขาถึงแสดงภาษากายของการปกปิด หลอกลวง ไม่มั่นใจ หลายครั้งหลายคราสเมื่อเขาบอกรัก ? เขาจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเขาเองว่าเปิดไปได้ไหมว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างซ่อนเร้นภายใต้คำว่า “ฉันก็รักคุณ” ?

จากเดิมที่เขาไว้ใจและไม่เคยตั้งคำถามใด เขาจึงลงมือสังเกตสิ่งอื่นๆนอกจากภาษากาย เขาเริ่มตรวจเช็ค แอบค้นรถและกระเป๋าอย่างลับๆ และเฝ้าสังเกตพฤติกรรมภรรยา และสุดท้ายได้พบว่าภรรยาเขามีมือถืออีกเครื่องซ่อนเอาไว้ และกำลังคบชู้อยู่กับตำรวจคนหนึ่ง

CEO เขากล่าวทิ้งท้ายไว้ในอีเมลว่า การได้เรียนในวันนั้นมีประโยชน์กับเขามาก แม้เหตุการณ์ที่เกิดมันจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่ดีนักสำหรับเขา แต่เขาก็ได้ตระหนักกับตัวเขาเองว่าเขาเข้าใจคนอื่นน้อยกว่าที่เขาเคยคิด

และเขารู้สึกเสียดายว่าเขาน่าจะได้เรียนมันเร็วกว่านี้…..เร็วกว่าปัจจุบัน ที่ตัวเขาอายุ 60 ปี

และเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา… เขาพลาดอะไร..ไปบ้าง

ทิ้งท้าย

ผมคิดว่าความรู้ด้านภาษากายมีประโยชน์อย่างแน่นอน และจะเป็นประโยชน์กับคุณไม่แง่มุมใดก็แง่มุมหนึ่ง คนเรามีบริบทของชีวิตที่ไม่เหมือนกันจึงขึ้นอยู่กับการเอาไปใช้ของคุณภายใต้บริบทต่างๆที่คุณกำลังประสบพบเจอ และผมทิ้งท้ายอีกนิดถึงพวกคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับภาษากาย

  • ภาษากายเป็นทักษะที่ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ได้ลึกขึ้น และละเอียดขึ้น จึงเหมาะสำหรับทุกคนที่อยากเข้าใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น
  • ภาษากายไม่ใช้ศาสตร์ที่แม่นยำเที่ยงตรงชนิดเห็นปุ๊บฟันธงปั๊บ และไม่อาจใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ จำเป็นจะต้องได้ข้อมูลจากหลายๆส่วนมาประกอบรวมกันเสมอ อาจจะเป็นภาษากายอื่นที่ตรวจพบ หรือ หลักฐานชนิดอื่น
  • ความรู้และทักษะภาษากายไม่มีข้อเสีย และมีแต่ประโยชน์ การรู้ย่อมดีกว่าไม่รู้แน่นอน
  • ถ้าคุณกังวลว่าความรู้ภาษากายจะทำให้คุณระแวงและกลัวคนมากขึ้น ปัญหาอยู่ที่ไม่อยู่ที่ศาสตร์ภาษากาย แต่เป็นวิธีคิดของคุณเอง
  • ภาษากายคล้ายภาษาที่เราใช้พูด ถ้ารู้น้อยก็อ่านอะไรไม่ออก หรือรู้ผิด ๆ ถูก ๆ ก็ย่อมนำไปใช้แบบผิด ๆ เพราะฉะนั้นการรู้ให้เยอะและรู้แบบถูกต้องย่อมมีความสำคัญในการวิเคราะห์เสมอ
  • การวิเคราะห์ภาษากายเป็นทักษะที่อาศัยการสะสมประสบการณ์ ยิ่งคุณเริ่มเร็ว ศึกษาเร็ว จะยิ่งเก่งเร็ว
  • ยิ่งคุณอายุน้อยเท่าไหร่ คุณยิ่งได้เปรียบ เพราะคุณมีโอกาสที่จะใช้มันได้ยาวนานชั่วชีวิตมากกว่าคนที่อายุมากกว่า

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

You may also like...

3 Responses

  1. Sai Waluga พูดว่า:

    เพิ่งบังเอิญเจอ Facebook Page และ Website นี้ของคุณหมอเมื่อไม่นานมานี้ (ประมาณปลายปี 2022) แล้วรู้สึกว่าภาษากายนี่น่าทึ่งและน่าสนใจมาก เพราะมักจะเป็นพฤติกรรมที่เราทำแบบไม่รู้ตัว หรือจะเรียกอีกอย่างว่า non-filtered ก็ได้ค่ะ ทำให้เราเห็นความตั้งใจลึกๆของแต่ละคนได้ดีขึ้นมาก

    ส่วนตัวก็ได้นำความรู้จากคุณหมอไปใช้ ทั้งการ self-monitor เวลาที่ตัวเองกำลังสื่อสารกับคนอื่น (เช่นกลับมาดูวิดีโอที่ตัวเองพูด) แล้วก็การอ่านภาษากายของคนรอบตัวเราด้วยค่ะ อย่างที่คุณหมอบอกคือ ศาสตร์ด้านภาษากายไม่มีอะไรไม่ดี ถ้ามันจะไม่ดี ก็เป็นเพราะการนำไปใช้ต่างหาก

    สุดท้ายคืออยากจะขอบคุณคุณหมอมากเลยค่ะที่ให้ความรู้ เขียนบทความดี ๆ มาเรื่อย ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้อยากศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกค่ะ

    • admin พูดว่า:

      ขอบพระคุณมากและยินดีอย่างยิ่ง ผมจะทะยอยเขียนบทความใหม่ ๆ ออกมาเพื่อเรียนรู้กันเรื่อย ๆ สม่ำเสมอครับ และขอบพระคุณอีกครั้งที่ติดตามครับ หมอมด

  2. Pat. J พูดว่า:

    ชอบมาก อ่านจากบทความคุณหมอ ทำไห้ได้ความรุ้เพิ่มเติมมากขึ้น ปกติจะเป็นคนชอบสังเกตุคน อยากเรียนการอ่านภาษากายมาก save ใว้อ่านตลอดตอนมีเวลา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *