มิถุนายน 22, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 154 : คุณอดิศร เพียงเกษ Facial expression of Sadness เมื่อกล่าวขอโทษ

คุณอดิศร เพียงเกษ เป็นข่าวเมื่อพูดถึงการขัดแย้งในกระบวนการเมืองประเด็นตำแหน่งประธานสภาและแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย (ลิงก์ข่าว) ทั้งนี้ด้วยคำพูดของเขาที่มีการไปพาดพิงพรรคก้าวไกลทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดเป็นชนวนทางการเมืองและเกิดความขัดแย้ง ทั้งที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลกำลังจะจับมือกันร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งวันต่อมาคุณอดิศร ก็ได้กล่าวขอโทษตาม VDO ข้างต้นที่ฏ

เคสนี้ก็มีส่วนที่น่าสนใจของสีหน้า (Facial expression) ซึ่งสีหน้านี้จัดว่าเป็นประตูสู่หัวใจ เพราะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลนั้นได้แม่นยำเหนือกว่าทุกภาษากาย และในเคสนี้คุณอดิศรมีสีหน้าอย่างไร และตีความตามของภาษากายอย่างไรก็ถือว่าน่าสนใจสำหรับทุกท่านที่สนใจศึกษาภาษากาย

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
Contempt

สีหน้าก่อนที่จะพูดขอโทษ นาที 2:00 ถึง 2:04 เขาพูดว่า “เราก็มีข้อถกเถียงกัน อาจจะรุนแรงไปหน่อย เป็นภาษารุนแรงของประชาธิปไตยดอกไม้ของภาษาเพื่อไทยนะครับ”

สังเกตรอยยิ้ม จะพบว่าปากมีการยิ้มเล็กน้อยตลอดเวลา และเป็นลักษณะการยิ้มโดยมุมปากข้างซ้ายอยู่ในระดับที่สูงกว่าข้างขวา (Unilateral corner of the mouth raise) ร่วมกับเปลือกตาทั้งสองข้างหรี่เล็กลง (Relaxed eyelid) ในทางภาษากาย (Body Language) ตีความได้เป็นลักษณะอารมณ์ Contempt แปลเป็นไทย คือ รู้สึกว่าตนเองสูงส่ง หรือ ดูถูก ดูหมิ่น

ใน VDO ที่ปรากฏเจ้าตัวจะมีลักษณะรอยยิ้มแบบนี้เกือบตลอดซึ่งสะท้อนว่าเจ้าตัวมีความมั่นใจและยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิด ซึ่งก็ค่อนข้างสอดคล้องกับบุคลิกภาพที่เห็นบ่อย ๆ ของคุณอดิศรที่เป็นคนมีความมั่นใจและเป็นแนวกล้าพูดแบบตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ลองมาสังเกตช่วงที่เขาพูดขอโทษ ในนาที 2:07 พูดว่า

“ถ้าได้พาดพิงถึงพรรคอื่นต้องขอกราบขอโทษด้วย นะครับ”

จะพบสีหน้าที่แตกต่างจากช่วงต้น โดยจะพบว่าหัวคิ้วยกขึ้นเล็กน้อยและเห็นร่องลึกระหว่างคิ้วเป็นผลจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ Frontalis และ pars medialis และหางคิ้วตกลงจาก Depressor glabellae , depressor supercilli , corrugator รวมกัน และในจังหวะหลังจากพูดว่า “นะครับ” พบมุมปากทั้งสองข้างตกเป็นผลจากกล้ามเนื้อ Depressor Anguli Oris

ทั้งหมดที่กล่าวมาเข้าหลักของสีหน้าที่เรียกว่า Sadness หรือ ความเสียใจ ซึ่งตรงนี้สะท้อนได้ว่าเจ้าตัวกำลังรู้สึกเสียใจ

สรุป

ในเคสนี้เราจะพบว่า แม้คุณอดิศรจะเริ่มต้นด้วยมีสีหน้า Comtempt เมื่ออธิบายเหตุการณ์ต่างๆ แต่พอเข้าช่วงที่ขอโทษสีหน้าได้เปลี่ยนเป็น Sadness ซึ่งวิเคราะห์ออกมาได้ว่าเจ้าตัวมีความรู้สึกเสียใจจริงๆ ณ ช่วงเวลาที่พูดคำขอโทษ

ทั้งนี้การรู้สึกเสียใจเป็นการเสียใจต่อสิ่งใดนั้นไม่อาจทราบได้ (นอกจากเจ้าตัว) เช่น

  • เสียใจกับสิ่งที่ตนได้ทำไป
  • เสียใจต่อพรรคของตน
  • เสียใจต่อพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้แม้ว่าคุณอดิศรจะได้ไม่ถึงขั้นตั้งโต๊ะแถลงข่าวขอโทษ หรือ ขอขมาอย่างเป็นทางการ แต่อย่างน้อยช่วงจังหวะที่เขาพูดขอโทษแม้จะสั้นและกระชับ แต่อย่างน้อยก็สะท้อนอารมณ์เสียใจออกมาให้ปรากฏในรูปแบบของสีหน้า

สีหน้าจัดว่าเป็นหนึ่งในภาษากายที่มีความแม่นยำสูง ถ้าสามารถสังเกตและวิเคราะห์ได้อย่างคล่องแคล่ว เราจะรับรู้สัมผัสอารมณ์ของบุคคลและเข้าใจผู้อื่นได้ลึกขึ้นอีกขั้น

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)


บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *