พฤษภาคม 7, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 143 : พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อถูกถามเรื่องปฎิรูปกองทัพ

คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนักการเมืองท่านหนึ่งที่มีบุคลิกและภาษากายน่าสนใจ

ไม่ว่าในการปราศรัยทั้งในและนอกสภารวมถึงบนเวทีหาเสียง เขาจะมีสไตล์การสื่อสารที่มีความมั่นใจ นิ่ง และน่าเชื่อถือ เมื่อเทียบกับนักเมืองท่านอื่นๆ

สิ่งที่น่าเรียนรู้ในบทความนี้คือในจังหวะที่ถูกถามด้วยคำถามที่มีความอ่อนไหว (Sensitive question) คนเราจะแสดงออกทางภาษากายอะไรบ้าง

ซึ่งคำถามที่พิธีกร (คุณยุทธนา บุญอ้อม) เตรียมมาถามคือ “การปฎิรูปทหาร”

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

นาที 30:01 เมื่อคุณยุทธนา เริ่มเกริ่นเข้าคำถามเกี่ยวกับการปฎิรูปวงการทหาร คุณพิธาใช้มือทั้งสองข้างยันตัวเองเพื่อขยับตัวขึ้น โดยยกก้นขึ้นจากเก้าอี้โซฟาและขยับตัวไปนั่งชิดกับแขนเก้าอี้โซฟาทางด้านขวา

การขยับตัวเด้งขึ้นจากที่นั่งเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบทวานหนัก (Anal Sphincter) และกล้ามเนื้อต้นขา (buttocks muscles – gluteus maximus, gluteus medius, etc.) ปรากฎออกมาเป็นการเด้งตัวขึ้นจากที่นั่ง เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นทันทีทันควันมากระตุ้น (High intensity of emotion) โดยอารมณ์ดังกล่าวมักจะเป็นกลุ่มความตื่นเต้นและกลัว

ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากการจัดที่นั่งเพื่อผ่อนคลายความอึดอัดเพราะร้อน หรือ ความอึดอัดของเครื่องแต่งกาย

ถัดมาต่อเนื่องกัน คุณพิธา ยกมือขวาขึ้นมาเสยผม เป็นภาษากายในกลุ่ม Alpha upright เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกอันเนื่องมาจากสภาวะทางจิตเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมาชั่วขณะ และต้องการปรับให้ความมั่นใจกลับมาระดับเดิม (Compensation to Neutral) ในชั่วขณะที่จิตมีความผันแปรนี้ จะมีภาษากายแสดงออกมาคู่ขนานทันทีและเป็นได้หลายรูปแบบ (ซึ่งในจังหวะนี้ปรากฎออกมาในลักษณะยกมือขึ้นมาเสยผม)

ทั้งนี้ความหมายในทางกายภาพ การเสยผมจะเป็นแค่การจัดทรงผมเท่านั้น

ถัดมาต่อเนื่องกัน คุณพิธา ใช้มือขวาวางในลักษณะคล้ายการเท้าคางแต่ฝ่ามือสัมผัสบริเวณคำคอด้านขวาต่อเนื่องไปถึงบริเวณขอบด้านล่างของขากรรไกรล่าง พร้อมกับเปลี่ยนท่านั่งเป็นท่าไขว่ห้าง

การใช้มือสัมผัสลำคอมักเกิดเมื่อเรามีความตื่นเต้นและเป็นความตื่นเต้นที่มีต้นตอ (Origin) มาจากความกลัว (Fear) ในภาษากายจะสามารถพบการใช้มือนวดและคลึงลำคอ (Neck massage) เพื่อไปกระตุ้น Vagus nerve ส่งผลให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจลงเพื่อลดความตื่นเต้น เป็นภาษากายที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจทำแต่เป็นไปอย่างอัตโนมัติ (Subconcious)

ทั้งนี้การสัมผัสลำคอจะสัมพันธ์กับความกลัวมากน้อยแค่ไหนจะต้องประเมินว่าเป็นการสัมผัสหรือนวด ร่วมกับระยะเวลาที่สัมผัสหรือนวด (Duration) ซึ่งในเคสคุณพิธา นี้เขาสัมผัสเพียงชั่วครู่แล้วย้ายมือไปบริเวณแก้มแทน จึงอาจกล่าวได้ว่าอาจไม่ได้สัมพันธ์กับความกลัว หรือ สัมพันธ์เพียงเล็กน้อย

การนั่งไขว่ห้างในบริบทนี้ส่วนตัวผมพิจารณาว่าเป็น alpha upright ดังที่อธิบายไปในข้างต้น

ถัดมาก่อนที่จะเริ่มตอบคำถามจะพบการใช้ปลายนิ้วของมือขวาที่วางกับซีกหน้าด้านขวา จะสัมผัสบริเวณขมับ ส่วนนี้จะตรงกับตำแหน่งที่เรียกว่า Temporal bone ของกระโหลกศีรษะซึ่งเป็นส่วนที่บางที่สุดของกระโหลก (1-3 มม.โดยเฉลี่ย) ใน VDO จะพบคุณพิธาคลึงส่วนนี้อยู่พักหนึ่งก่อนจะเคลื่อนนิ้วลงมาเล่นกับจอนผม

การใช้นิ้วสัมผัสส่วนนี้จะพบได้เสมอเวลาคนเรากำลังใช้ความคิด หรือตั้งใจโฟกัสที่จะคิดวิเคราะห์บางสิ่งบางอย่าง

ประกอบกับมีจังหวะที่คุณพิธามองเฉียงขึ้นไปทางซ้ายบน เป็น eyes pattern ที่สัมพันธ์กับการครุ่นคิดและการจินตนาการเป็นภาพ เมื่อประกอบกับนิ้วที่สัมผัสตรงขยับก็จะพบว่าภาษากายไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้มือที่เราอาจจะสงสัยว่าเป็นมืออารมณ์ (Adaptor) ได้แก่กลุ่ม Facial touching นั้นมีน้ำหนักน้อยลง

สรุป

คุณพิธามีการแสดงถึงความตื่นเต้นและประหม่าเล็กน้อยในช่วงแรกเมื่อจะต้องเริ่มต้นตอบคำถามเกี่ยวกับการปฎิรูปทหาร แต่ก็ปรากฎออกมาเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ภาษากายที่ปรากฎก็สมเหตุสมผลกับคำถามที่มีความอ่อนไหวสูง

โดยรวมคุณพิธาสามารถรักษาบุคลิกและความมั่นใจไว้ได้ดี แต่ไม่ว่าอย่างไรภาษากายก็จะเห็นรายละเอียดที่ลึกขึ้นได้มากกว่าประโยคคำตอบที่ออกมาจากปากแต่ลำพัง

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

1 Response

  1. Kridkan พูดว่า:

    ขอบคุณครับผม เป็นโยชน์สำหรับคนชอบวิเคราะห์ body language อย่างผมมากครับ เป็นกำลังใจให้ครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *