พฤศจิกายน 5, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 170 : “ปูอัด” ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ตอนออกมาสัมภาษณ์ปมคุกคามทางเพศครั้งแรก : Microexpression of Contempt


คุณปูอัด (นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์) สส.พรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนในประเด็นคุกคามทางเพศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่เจ้าตัวหายไปพักนึงก็ได้มาปรากฏในคลิปสัมภาษณ์อันนี้ถือว่าเป็นการแถลงการณ์ครั้งแรกของเขา

พรรคก้าวไกลในวันนี้ถือว่ามีปัญหาและสิ่งที่ต้องต่อสู้ค่อนข้างเยอะ นอกพรรคก็หนักแล้วในพรรคก็มีปัญหาไม่หยุดหย่อน เรามักจะเห็นว่าที่ผ่านมาทางพรรคก้าวไกลมีความพยายามที่จะตั้งมาตรฐานให้นักการเมืองของพรรคมีมาตรฐานที่สูงขึ้นในประเด็นคุณธรรมและจริยธรรมรวมถึงความเป็นมืออาชีพ ที่ผ่านมาก็อาจจะมีข่าวให้เห็นเรื่อง สส.ที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมทางพรรคก็มีมาตรการค่อนข้างแรงที่จะระงับหน้าที่หรือแม้แต่ขับไล่ออกจากพรรค

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นในวันนี้นอกจากข่าวปัญหาการบริหารจัดการคนในพรรค อีกแง่มุมหนึ่งก็สะท้อนถึงความพยายามที่จะสร้างนโยบายที่ชัดเจนในแง่การควบคุมคุณภาพของตัวบุคคล

ในบทความนี้ก็มีประเด็นของภาษากายที่น่าสนใจให้ชมอีกเช่นเคย ลองมาวิเคราะห์กันนะครับ

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
โค้งคำนับ / โค้งขอโทษ

นาที 0:02 เมื่อเริ่มวิดีโอเราจะเห็นการโค้งคำนับของคุณปูอัดด้วยโค้งในระดับที่ลำตัวด้านบนขนานกับพื้นนานถึง 4 วินาที

การโค้งเป็นภาษากายกลุ่ม Culture Dependent ซึ่งจะพบบ่อยในบางวัฒนธรรมและอาจจะไม่พบเลยในบาง วัฒนธรรม ในประเทศแถบเอเชียการโค้งไม่ว่าจะเป็นการทักทายขอโทษหรือแสดงมารยาทจะพบเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ถ้าสังเกตจากการโค้งของคุณปูอัดเค้าจะโค้งจนเหมือนก้ม หลังขนานพื้น และศีรษะคว่ำลงค้างนาน 4 วินาที เป็นลักษณะของการโค้งเพื่อแสดงออกถึงการขอโทษในลักษณะคล้ายการขอขมา

แต่ด้วยความที่คุณปูอัดก็เป็นคนไทยและอยู่ในประเทศไทยจึงทำให้การโค้งคำนับขอโทษในลักษณะนี้ดูแปลกตาเล็กน้อย อาจเป็นความพยายามของเจ้าตัวที่ต้องการจะแสดงออกว่าตนมีความจริงใจที่อยากจะขอโทษและรู้สึกว่าการยกมือไหว้อาจจะน้อยไป แล้วถ้าจะก้มลงกราบกับพื้นก็อาจจะดูมากไป ก็เลยเลือกที่จะโค้งก็เป็นได้ และพอมันขัดกับวัฒนธรรมไทยบางท่านอาจจะตีความว่าเป็นแค่การแสดง อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองครับ

เกือบตลอดระยะเวลาที่คุณปูอัดแถลงข่าว แขนทั้งสองข้างจะแนบลำตัวและมือก็จะประสานกันไว้อยู่อยู่บริเวณเป้ากางเกง แต่ช่วงหลังก็จะมีการยกมือขึ้นมาบริเวณหน้าอกในท่า Steeple ในภาษากายก็จะสะท้อนถึงความมั่นใจที่น้อย การป้องกันตัวและระวัง ในเชิงของวัฒนธรรมจะเป็นการแสดงความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นท่ายืนที่เหมาะสมในบริบทที่ต้องพูดขอโทษหรือชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาของตัวเองเช่นเหตุการณ์นี้

ส่วนสีหน้า (Facial expression) ของคุณปูอัดดูค่อนข้างนิ่งตลอดระยะเวลาการแถลงข่าว ทำให้สังเกตอารมณ์ได้ยากลักษณะนี้ในภาษากายจะเรียกว่า Poker face เรียกไทยๆ ว่าหน้านิ่ง

Facial expression of Contempt

นาที 3:19 ช่วงที่พูดว่า “ส่วนสำคัญเลย คือ ผู้ร้องเรียนที่เป็นคน เป็นคน (*) สำคัญสำหรับ สำหรับพวกเรา..”

ในจังหวะ (*) จะพบ

  • Microexpression of Contempt หรือ ภาษาไทยๆ คือแสยะยิ้มเล็กๆ โดยสังเกตที่มุมปากด้านขวาจะยกสูงกว่ามุมปากด้านซ้าย (Asymmetry smile) พร้อมกับเปลือกตาทั้งซ้ายขวาหรี่เล็กน้อย (Relaxed upper eyelids) จังหวะนี้เกิดขึ้นสั้นๆ ไม่ถึง 1 วินาที ถ้าไม่ได้สังเกตด้วยวิดีโอจะสังเกตไม่ทันและสำหรับหลายคนที่เพิ่งฝึกวิเคราะห์ภาษากายก็อาจจะสังเกตไม่เห็นเพราะเกิดขึ้นเร็วมาก
  • ต่อเนื่องกันจะพบว่าคุณปูอัดส่ายหน้าสั้นๆ การส่ายหน้าหมายถึงการปฎิเสธหรืออาจจะมีความหมายว่าไม่ชอบหรือว่ารังเกียจ

ช่วงที่เอ่ยถึงคนที่มาร้องเรียนในจังหวะ (*) เจ้าตัวมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งจากสีหน้านี้จะสัมพันธ์โดยตรงกับอารมณ์ Contempt หรือถ้าแปลตรงตัวแปลว่า ดูถูกเหยียดหยาม ก็น่าวิเคราะห์ว่าคุณปูอัดรู้สึกอย่างไรกับผู้ร้องเรียน หรือ กับใครบางคน หรือ เหตุการณ์ หรือ แม้แต่ตัวเค้าเอง และทำไมถึงมีสีหน้าและอารมณ์ชนิดนี้เกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีนั้น

นาที 3:39 คุณปูอัด พูดคำว่า “คุกคามทางเพศ” ด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบาและในประโยคก่อนหน้านี้เขาก็พูดวนไปวนมา บางช่วงดูอึกอักและไม่พูดคำว่าคุกคามทางเพศตรงๆ สักที (แต่ก็พูดน้อยที่สุด)

ลักษณะนี้เป็นการหลบเลี่ยงคำพูดที่ตัวเองไม่อยากจะพูดออกมาจากปาก อาจวิเคราะห์ได้ว่าคำว่าคุกคามทางเพศน่าจะคุกคามทางใจของผู้พูดด้วยเช่นกัน เป็นกลไกป้องกันตัวทางจิตใจรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า Avoiding explicit self disclosure

สรุป

แม้ว่าเคสนี้เจ้าตัวจะสามารถคุมสีหน้าและอารมณ์ได้เกือบตลอดทั้งช่วงเวลาของคลิปวิดีโอแต่ก็ยังมีภาษากายที่รั่ว (Leak) ออกมาให้เห็น จึงเป็นเคสที่น่าสนใจเพื่อเอามาเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า Microexpression

ภาษาพูดอาจจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนตรงไปตรงมาโดยออกจากปากที่พูด แต่ภาษากายคือสิ่งที่อาจจะแสดงออกมาทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ของร่างกายทั้งหมดและสีหน้า โดยเฉพาะส่วนที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึกอันเป็นผลพวงมาจากอารมณ์ที่บังเกิดขึ้น การที่เราสามารถจะสังเกตและทำความเข้าใจการแสดงออกเล็กๆน้อยๆที่คนทั่วไปมองข้ามจะทำให้เรา เข้าใจและเห็นสิ่งที่มากกว่าแค่การสื่อสารด้วยคำพูด

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *