กุมภาพันธ์ 15, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 133 : ท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา มือที่ไขว้หลังเมื่อพูดว่า “ผมไม่ทุจริตแม้แต่บาทเดียว”

ช่วงต้นปี 2566 นี้มีข่าวที่ไม่ค่อยดีนักของวงการตำรวจปรากฏตามสื่อบ่อยมาก ๆ และก็ไม่พ้นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องออกมาตอบนักข่าวถึงประเด็นต่าง ๆ

ต้นฉบับจาก twitter คุณวาสนา นาน่วม

VDO ข้างต้น ผมเอามาจากนักข่าวชื่อดัง คุณวาสนา นาน่วม จาก twitter ของคุณวาสนา (ลิ้ง) ภาษาของคุณประยุทธ์ใน VDO นี้มีประเด็นของภาษากายที่น่าเรียนรู้เยอะเลยครับ

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbral communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
นาที 0:00 disgust

ภาพแรกที่เห็นทันทีที่เปิด VDO จะพบสีหน้าของคุณประยุทธ์ปรากฏเป็นความเกลียด รังเกียจ ไม่ชอบ (Disgust)

Facial expression ของ Disgust เป็นสีหน้าคลาสสิคที่สังเกตง่าย โดยกล้ามเนื้อช่วง 1/2 บนจะค่อนข้าง Relax และส่วนล่างของใบหน้าที่เหลือบริเวณรอบริมฝีปากจะหดตัวหลายมัด ได้แก่ มุมปากตกจาก Depressor Anguli Oris ริมฝีปากล่างถูกดึงลง Depressor labii และกล้ามเนื้อคาง Mentalis หดตัวขึ้น ทำให้เห็นปากเป็นรอยยิ้มกลับหัวที่ปลายชี้ขึ้นจมูก

ตลอดการสัมภาษณ์ประมาณ 2 นาทีจะพบสีหน้านี้ตลอดการสัมภาษณ์ อาจจะพอตีความได้ว่าเจ้าตัวน่าจะไม่ชอบอะไรบางอย่าง ณ เหตุการณ์นี้ อาทิ ไม่อยากมาให้สัมภาษณ์ ไม่ชอบคำถาม ไม่ชอบบรรยากาศ หรือ ไม่ชอบนักข่าว เป็นต้น

แต่ท้ายที่สุด เจ้าตัวไม่ชอบอะไรในบริบทนี้คนที่รู้ดีที่สุดคือตัวคุณประยุทธ์เอง เราในฐานะคนนอกก็ได้เพียงสังเกตการณ์ด้วยการคิดวิเคราะห์ส่วนบุคคลผ่านศาสตร์ภาษากาย

ทั้งนี้ ถ้าเราเฝ้าดูบทสัมภาษณ์ของคุณประยุทธ์หลาย ๆ ครั้งในอดีตที่ผ่านมา เขามักจะให้สัมภาษณ์ถึงวงการตำรวจในท่าทีประนีประนอมและขอให้เข้าใจตำรวจ โดยไม่ค่อยใช้คำพูดหรือความเห็นที่รุนแรง

Pacifying behavior
0:25 pointing with index finger

นาที 0:02 นักข่าว “มีตำรวจระดับนายพลเข้ามาเกี่ยวข้อง….”

นายก ” ก็กำลังสอบสวนอยู่ไง (*) “

เมื่อคุณประยุทธ์เริ่มตอบ (ในลักษณะตัดบทอีกฝ่าย) จะสังเกตที่มือซ้ายที่กำแมสอยู่คุณประยุทธ์ใช้มือขยำและขยี้เป็นจังหวะต่อเนื่องนาน 20 วินาที และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจะอยู่นิ่ง (Stay still)

มือที่เคลื่อนไหวโดยปราศจากเหตุผลในลักษณะนี้ในภาษากายสามารถอธิบายได้เป็น Pacifiying behavior คือเป็นกลไกการปลอบประโลมทางจิตใจให้สภาวะที่กำลังถูกคุกคาม หรือ กลัวนั้นได้ผ่อนคลาย หรือ ชดเชยให้กลับสู่สภาวะปกติ กล่าวได้ว่า ณ ช่วงวินาทีนี้คุณประยุทธ์อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัย (Insecure) และร่างกายต้องการจูนอารมณ์ให้กลับมาสู่สภาวะปกติด้วยภาษากายของการปลอบโยนตัวเอง

และถ้าเราดูต่อเนื่องจนถึงนาทีที่ 0:25 คุณประยุทธ์จะเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นและมีการใช้มือประกอบ (Illustrator) ในการพูดด้วยการชี้นิ้ว (Pointing with index finger) ช่วงนี้สภาพจิตของคุณประยุทธ์เริ่มจูนกลับสู่สภาวะปกติ (neutral) มากขึ้น แต่พอเข้านาทีที่ 0:35 อารมณ์ insecure ก็เริ่มกลับเข้ามา Pacifying เริ่มกลับมา ซึ่งตรงกับช่วงที่พูดมาตรการลงโทษทางวินัย

microexpression of contempt

นาที 0:55 จะพบ microexpression ของ contempt เกิดขึ้น เป็นจังหวะที่หลังจากพูดว่า “..แต่มันก็ไม่มีหลักฐาน (*)”

hand behide back

1:46 นายก “สิ่งที่ผมพูดอยู่เสมอคือ การสร้างวงการแห่งจริยธรรม (*) แต่ผมเอง … ผมยืนยันได้ว่าผมไม่เคยทุจริตแม้แต่บาทเดียว ทุกวันนี้ ผมพูดได้เพราะผมรู้ว่าทำอะไรอยู่”

จังหวะนี้น่าสนใจ คือก่อนที่นายกจะพูดยืนยันฟันธงว่าตนเองไม่เคยทุจริตแม้แต่บาทเดียวเขาได้เอามือขวามาไขว้หลัง

ในภาษากายถ้าเรารู้สึกเปิดเผย ต้อนรับ และจริงใจ เรามักจะแสดงมือออกมาให้ปรากฏต่ออีกฝ่าย โดยเฉพาะในลักษณะของการแบมือ หรือ โชว์ฝ่ามือ

แต่กลับกันถ้าเรารู้สึกไม่ปลอดภัยอาจจะเพราะปิดบัง ไม่ได้พูดความจริง หรือต้องการซ่อนเร้นสิ่งใด เราอาจจะเก็บมือ หรือ ซ่อนมือเอาไว้โดยไม่รู้ตัว เช่น ซุกกระเป๋า รวบมือไว้ที่ตัก เปลี่ยนท่ามากอดอก หรือ เอามือไขว้หลัง

ในจังหวะนี้ทำให้สังเกตได้ว่าตอนที่นายกพูดยืนยันว่าตนไม่เคยทุจริตนั้นดูไม่หนักแน่น และภาษากายไม่ได้ล้อไปกับภาษาพูด (unsynchronized) อย่างที่ควรจะเป็น

คำถามท้ายบท

คุณคิดว่าท่านนายกรู้สึกอย่างไร ในจังหวะที่พูดว่า ไม่เคยทุจริตแม้แต่บาทเดียว

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในศาสตร์ภาษากาย และเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนที่สนใจเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

1 Response

  1. มิถุนายน 3, 2023

    […] กลับกันเมื่อคนเรารู้สึกไม่มั่นใจ กังวล หรือ กลัว เพราะกำลังโกหก ปกปิด หรือ อำพรางบางสิ่งบางอย่าง การเคลื่อนไหวและท่าทางจะผันแปรไป และสามารถแสดงออกผ่านมือได้บ่อย ๆ เช่น การซ่อมมือไว้ใต้โต๊ะ เอามือไขว้หลัง หรือ ล้วงกระเป๋า ตัวอย่างเคสที่ผมเคยเขียนที่น่าศึกษา ลิ้ง รวมถึงมืออารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฎออกมาแบบไม่มีความหมายและผิดที่ผิดทาง […]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *