คุณ อ๊อฟ ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ ได้ออกมาไลฟ์เพื่อบอกเล่าสภาวะที่ตัวเองกำลังเผชิญ นั่นคือโรคซึมเศร้าซึ่งได้เกิดขึ้นและเริ่มแสดงอาการชัดเจนตั้งแต่หลังจากคุณแม่ของคุณอ๊อฟเสียชีวิตไปช่วงก่อนการระบาดของโควิด
แม้การงานคุณอ๊อฟจะไปได้ดีแต่เจ้าตัวก็บอกเล่าว่ามีความลำบากด้านจิตใจมารุมเร้าจนต้องตัดสินใจไปพบจิตแพทย์และเข้ารับการรักษาด้วยยา
เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า (Depression) แม้ผม(หมอมด)จะไม่ได้เป็นสภาวะนี้มาก่อน แต่ก็นับว่ามีความใกล้ชิดกับโรคชนิดนี้ทางอ้อมจากการที่ผมได้ทำงานด้านจิตบำบัดให้ผู้คนอย่างไม่เป็นทางการ และผมมีคนใกล้ชิดอย่างน้อย 2 ท่านที่มีสภาวะนี้และผมก็อยู่ด้วยกันกับเขาตลอดช่วงที่เขามีอาการ ทำให้ผมพอเข้าใจโรคนี้พอสมควร (จากมุมที่ผมเข้าใจและได้คุยกับเขา แต่ยังถือว่าเป็น outsider view หรือมุมของคนนอกมองเข้ามา)
ถ้าจะให้อธิบายคร่าว ๆ ถึงโรคชนิดนี้เพื่อให้คนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจให้รู้จักมากขึ้น ผมจะขออธิบายง่าย ๆ ดังนี้
จะเสมือนว่าในหัวเขาไม่สามารถหยุดคิดได้ คล้ายการเปิดเพลง random ไม่หยุดหย่อน ความคิดเก่า ๆ และความกังวลในอนาคตมันประดาประดังพร้อมกับมีอารมณ์มีกระทบทุกครั้งผันตามกันไปและมักเป็นอารมณ์ที่รุนแรง เช่น โกรธจัด เครียดจัด เศร้าหนัก เป็นต้น เจ้าตัวจะหมดพลังไปอย่างมากในแต่ละวันกับการจัดการอารมณ์และความคิด ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกิจกรรมประจำวันได้เต็มที่และมักจะอดนอน ซึ่งฉุดรั้งทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจแย่ลงเรื่อย ๆ โรคนี้มักเกิดจากการสะสมปมบางอย่างมาแรมปีและมีส่วนที่สัมพันธ์กับพันธุกรรม บางคนใช้วิธีการเยียวยาตัวเองแบบผิด ๆ เช่น ดื่มเหล้า เที่ยว หรือเสพยาเสพติด เพื่อหนีหรือเบี่ยงเบนตัวเองออกไป (Distraction) อาจทำให้ดูเหมือนดีขึ้นแต่ก็แค่ชั่วคราว
บางท่านรู้สึกสับสนในชีวิตและหาทางออกไม่ได้จนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ดังที่เราพบตามหน้าหนังสือพิมพ์และแหล่งข่าวต่าง ๆ
การรักษาโรคนี้แตกต่างจากโรคติดเชื้อที่มีกระบวนการรักษาที่ชัดเจน ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนเป็นราย ๆ ไป บางคนก็อาจจะแค่เบา ๆ ไม่ต้องทานยา บางคนมีอาการเยอะและสภาวะของโรคส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากก็มักจะต้องได้รับยาและพบจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ปัญหาหนึ่งที่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าพบบ่อยคือไม่มีใครเข้าใจเขาและถูกมองว่าเป็นคนจิตใจอ่อนแอ อ่อนไหว คิดมาก วิตกจริตจนเกินไป ฟุ้งซ่าน คิดลบ พร้อมถูกยัดเยียดการคิดบวกหรือมุมมองของตนเอง ซึ่งทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้ายิ่งทุกข์ใจและไม่อยากคุยกับใครจากการถูกตัดสินจากผู้คนภายนอก มักรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเพราะไม่มีใครเข้าใจเขาอย่างแท้จริง
ใน VDO ของคุณอ๊อฟนี้มีภาษากายบางส่วนที่น่าหยิบยกมาเรียนรู้ เป็นภาษากายของความกลัว (Fear)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
นาที 5:35 – 5:43 ช่วงสำคัญที่คุณอ๊อฟพูดว่า “เรารู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ ก็เคยคิดที่จะฆ่าตัวตาย….”
จะพบภาษากายที่ไล่เรียงกันของมือที่สัมผัสบนใบหน้าและที่สำคัญคือภาพที่ 2 และ 3 ที่มีการใช้มือลูบที่ลำคอและใต้คางผมเรียกรวม ๆ ว่า “นวดคอ”
บริเวณลำคอมีเส้นประสาทสำคัญเส้นหนึ่งที่ทอดยาวจากสมองลงไปสู่ร่างกายส่วนอื่น ๆ ชื่อว่า Vagus nerve เป็นเส้นประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการย่อยอาหาร การเต้นของหัวใจ และอื่น ๆ หลายอย่าง
เมื่อเรามีความตื่นเต้นและเป็นความตื่นเต้นที่มีต้นตอ (Origin) มาจากความกลัว (Fear) ในภาษากายจะสามารถพบการใช้มือนวดและคลึงลำคอ (Neck massage) เพื่อไปกระตุ้น Vagus nerve ส่งผลให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจลงเพื่อลดความตื่นเต้น เป็นภาษากายที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจทำแต่เป็นไปอย่างอัตโนมัติ (Subconcious)
ซึ่งใน VDO ก็จะพบว่าภาษากายของการนวดลำคอนี้เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะพูดว่า “เคยคิดฆ่าตัวตาย” ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าเจ้าตัวต้องมีความกลัวบังเกิดขึ้นในวินาทีนั้น และสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง
สรุป
โรคซึมเศร้ามีมานานแล้ว แต่เพิ่งมีบัญญัติว่าเป็นโรคไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ในยุคยุโรปกลางสังคมเรียกคนป่วยกลุ่มนี้ว่าแม่มด (Witch) ในยุดถัดมาเรียกว่าคนบ้า และยุคปัจจุบันคือผู้ป่วยทางจิต (Ref : Michel Foucault) มีคนอีกหลายคนในสังคมที่อาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยข้อจำกัดด้านช่องทางการเข้ารับการรักษาที่มีจำกัดและค่าใช้จ่ายที่สูง (การพบจิตแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนครั้งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทขึ้นไป ไม่รวมยา)
หน้าที่หนึ่งที่สำคัญของคนในสังคมคือศึกษาเรียนรู้กับสภาวะนี้ให้มากขึ้น เพื่อว่าสักวันคุณอาจจะได้ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากทางจิตใจที่อยู่ใกล้ตัวและแนะนำ หรือ พาเข้าไปพบจิตแพทย์ก่อนที่อาการและสภาวะที่เป็นจะรุนแรงมากขึ้น
คุณ อ๊อฟ ปองศักดิ์ แม้เจ้าตัวจะบอกว่าตนเองป่วย แต่ถือว่ายังโชคดีที่มีเพื่อนและญาติรายล้อมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ และอาจไม่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์เมื่อเทียบกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนและมีรายได้น้อย
ด้วยต้นทุนทางสังคมที่สูงกว่าใครหลายคน คุณอ๊อฟจึงนับว่าเป็นเคสที่โชคดีในบางแง่มุม กว่าหลาย ๆ ท่านที่เป็นโรคซึมเศร้าในสังคมที่เราพบเห็น
ขอเป็นกำลังใจให้คุณอ๊อฟ นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น