**VDO ที่ผมใช้เพื่อเขียนบทความถูกจำกัดการเข้าถึงจากเจ้าของ VDO ผมจึงแนะนำให้ดูผ่าน VDO ของสำนักข่าวแทนตามที่ปรากฎข้างต้น ทั้งนี้ในส่วนของ time mark จะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง**
เป็นข่าวดังเมื่อคุณบิว จักรพันธ์ พุทธา ได้ถูกแฉจากแฟนเก่าในประเด็นการทำร้ายร่างกาย และต่อมาก็เกิดกระแสสังคมรุมโจมตีคุณบิวจนในที่สุดเจ้าตัวก็ตัดสินใจยุติการเป็นนักแสดงตามที่ปรากฎใน VDO นี้ แฟนคลับหลายท่านหลังจากได้เห็นก็ได้แจ้งกับผมว่ามีภาษากายที่น่าสนใจ ผมจึงตัดสินใจยกขึ้นมาทำเป็นบทเรียนกัน นะครับ
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbral communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
ในเคสนี้ผมจะวิเคราะห์ภาษาพูดที่เขาใช้ด้วย เพราะมีจุดที่น่าเรียนรู้พอสมควรครับ
นาที 5:19 “จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น จากข้อผิดพลาดทางสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้”
จังหวะนี้ผมสนใจภาษาพูดที่คุณบิวใช้พูดว่า “ข้อผิดพลาดทางสังคม”
คำนี้แปลก ๆ เพราะไม่ได้สื่อถึงอะไรที่ชัดเจน ฟังดูแล้วคล้ายเป็นการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดกับตนให้ดูห่างไกลตัวออกไป (Distancing) และไม่ได้มุ่งเป้าในรายละเอียดของตนเอง เป็นลักษณะการใช้คำพูดเพื่อเบี่ยงและปฎิเสธรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ตนเองดูราวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์
ถ้าคุณบิวจะสื่อสารให้ตรง ๆ ก็น่าจะพูดว่า “จากข่าวที่เกี่ยวกับผมในช่วงนี้”
ซึ่งในจุดนี้จึงเป็นไปได้ว่าเจ้าตัวพูดแบบท่องบท หรือ ท่องสคริป และน่าจะมีคนช่วยเตรียมให้ถึงมีการใช้ภาษาแปลก ๆ และขัด ๆ
6:01 “สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ (*)ผมขอยืนยันว่าผมพูดจากใจจริง และผมขอพูดเลยว่าผมพูดสัตย์จริงทุกประการ”
ในส่วนของภาษากาย จะพบว่าในจังหวะ (*) เจ้าตัวขยับตัวขึ้นยืดหลังตรงและใบหน้ามีลักษณะของ Anger หรือความโกรธ
ความโกรธเป็นสีหน้าที่สังเกตไม่ยาก ความรุนแรงของอารมณ์จะแสดงออกผ่านใบหน้าว่ามีการหดเกร็งมากน้อยเพียงใด และส่วนใด หลัก ๆ ในเคสนี้คุณบิวจะมีสีหน้าของความโกรธฉาบไว้เกือบจะตลอด 3 นาทีที่แถลงข่าว และมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงที่พูด รวม ๆ คือจะมีส่วนของเปลือกตาบนและล่างที่หดเกร็ง (Tense upper and lower eylid) และในจังหวะนี้ จะพบการหดเกร็งที่ริมฝีปากจนทำให้ปากดูเรียวและบางลงจาก กล้ามเนื้อ Orbicularis oris สีหน้าจึงเหมือนไปโกรธใครมา หรือ ไม่พอใจอะไรบางอย่างอยู่
ผมอยากให้สังเกตภาษาพูดที่เขาว่ามีการ “ย้ำ” ว่าตัวเองกำลังพูดความจริง ในส่วนนี้น่าวิเคราะห์ว่าทำไมเจ้าตัวจะต้อง “ย้ำ” ขนาดนี้ ? เพราะอยากให้คนเชื่อ ? หรือ ลึก ๆ มีความกังวลใจว่าสังคมจะไม่เชื่อสิ่งที่ตนเองสื่อสารหรือเปล่า ?
อีกประเด็นคือ “น้ำเสียง” ของคุณบิวที่ตลอดช่วง 3 นาทีจะมีน้ำเสียงที่แข็งห้วน สะท้อนอารมณ์โกรธ หรือ ความไม่พึงพอใจได้ชัดเจน
นาที 6:21 ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตผมมาสักระยะหนึ่งแล้วครับ (*) จนถึงวันนี้ (**)ผมตัดสินใจว่า ผมต้องออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองบ้าง (***)
ช่วงนี้พบภาษากายหลายอย่าง
- ในจังหวะ (*) พบลิ้นงู ลิ้นงู เป็นภาษากายที่พบเวลาคนเรากำลังคิดในสิ่งที่ตนมองว่าไม่ดี (Deception) ซึ่งเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเท็จ ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง (ทั้งนี้ในจังหวะนี้เป็นไปได้ว่าจะเป็นลักษณะปากแห้ง เพราะระยะเวลาที่แสดงออกของการแลบลิ้นนานกว่าลักษณะของลิ้นงูที่ใช้เวลาสั้นกว่า)ทั้งนี้หลายคนมักจะวิเคราะห์ผิดว่า ลิ้นงู = โกหก เราจะวิเคราะห์ภาษากายแบบนั้นไม่ได้แต่จะต้องดูองค์ประกอบอื่นผสมไปด้วย เพราะหลายครั้งลิ้นงูไม่ได้แปลว่าโกหกเสมอไป
- ในจังหวะ (**) เป็นต้นไปจะพบสีหน้าของความเกลียด หรือ ไม่ชอบ (Disgust) ร่วมด้วย จากมุมปากล่างที่ตกลงเล็กน้อยจากกล้ามเนื้อ Depressor Anguli Oris และ Mentalis
- อีกภาษากายที่น่าสนใจของความโกรธ คือ การขยายตัวของรูจมูก (Nasal flaring) ในจังหวะ (***)ก็จะพบได้เสมอเวลามีความโกรธเกิดขึ้น ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น จึงยิ่งชัดว่าจังหวะนี้เจ้าตัวเกิดอารมณ์โกรธที่รุนแรง (ซึ่งก็สอดคล้องกับที่พูดว่า จะปกป้องตัวเอง)
- มีการเคลื่อนขยับของขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า (Jaw protrusion) สัมพันธ์กับอารมณ์โกรธ
6:45 “ผมเองก็แค่มนุษย์คนหนึ่ง ผมยอมรับว่าผมไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ แม้สิ่งที่ปรากฎจะตีความว่าผมแย่แค่ไหนก็ตาม”
ประโยคนี้เป็นเทคนิคการพูดที่เรียกว่า Normalization (ผมไม่แน่ใจว่าในภาษาไทยควรแปลว่าอะไร ถ้าผู้อ่านท่านใดแนะนำเข้ามาได้จะเป็นพระคุณยิ่ง)หรือ การหาเหตุผลมาอ้างเพื่อให้ตนเองไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป มันก็เป็นประโยคเดียวกับประเภทเพื่อจะเบี่ยงประเด็นเพื่อปกป้องตนเองและมุ่งให้เกิดภาพลักษณ์ว่า “ฉันก็แค่คนธรรมดา…ที่ทำผิดพลาด…เหมือนคนทั่วไปที่ก็ทำผิดได้….”
7:09 “ชีวิตผมต้องพังทลายลง” ในจังหวะนี้เจ้าตัวมีสีหน้าของความเศร้า (Sadness) ปรากฎขึ้นมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลือกตาบนที่หดเกร็งน้อยลงและมุมปากตกเล็กน้อยจากกล้ามเนื้อ Depressor Anguli Oris
7:20 “แม้กระทั้งตอนนี้ที่ผมนั่งหายใจอยู่ ผมก็ยังผิด ผมไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านี้ได้แล้วครับ (*)”
ประโยคนี้ผมไม่ทราบว่าใครแนะนำให้พูด หรือ เขียนให้ แต่จุดประสงค์เหมือนการเล่นบทให้ตนเองเป็นเหยื่อ (Victim) ร่วมกับประโยคข้างต้นที่พูดว่า “ผมไม่เหลืออะไร” และสังเกตมีลิ้นงูปรากฎออกมาตอนจังหวะ (*)
7:48 “ผมจะต่อสู้เพื่อคนที่ผมรัก คนที่ยังรักผม คนที่เชื่อมั่นในตัวผม รวมถึงครอบครัวและตัวผมเองด้วย (*) ผมขอให้ทุกคนอดทน และผมก็จะเข้มแข็งและอดทนเพื่อรอคดีในชั้นศาล”
จังหวะ (*) มีการเคลื่อนขยับของขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า (Jaw protrusion) และการขยายตัวของรูจมูก (Nasal flaring)สัมพันธ์กับอารมณ์โกรธ ส่วนสีหน้าก็พบเป็น anger + disgust
น้ำเสียงในจังหวะนี้ก็ชัดเจนว่าเสียงดังขึ้นและมีความแข็งกร้าวมาก ๆ
8:05 “(*) จากนี้.(**).ผมเชื่อว่า ความจริงจะชนะในที่สุด” จะพบภาษากายคือ
- ในจังหวะ (*) มีการเม้มปาก (Inward lip roll) เป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการกลั้นอารมณ์ลบ (Conceling strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์เสียใจ ความเครียด ความกลัว หรือความโกรธ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากสภาวะปากแห้ง หรือ ริมฝีปากแห้ง
- พบเกร็งริมฝีปาก (Lips compression) ในส่วนนี้จะเป็น Facial expression ของ Anger หรือความโกรธ เวลาคนเราโกรธเราจะพบการเกร็งริมผีปากในลักษณะนี้
- อยากให้สังเกตที่ดวงตา จะพบเงาสะท้อนในแววตาชัดซึ่งเป็นสภาวะที่มีน้ำตาคลอ (แต่ไม่ถึงกับออกมาเป็นหยด) ตรงนี้เจ้าตัวกำลังมีอารมณ์ลบที่รุนแรงเกิดขึ้นและพยายามอย่างมากที่จะกลั้นและเก็บเอาไว้ไม่ให้ระเบิดออกมา
สรุป
คุณบิวออกมาแถลงข่าวรอบนี้ด้วยอารมณ์โกรธแค้นและมีความเกลียดชังผสมกับช่วงท้ายที่มีความเศร้าเสียใจปนมา
ทั้งนี้ความเสียใจอาจไม่ใช่ความเศร้าในสิ่งที่ตนเองทำผิดอะไรขนาดนั้น แต่อาจจะเศร้าเสียใจกับชะตากรรมที่ตนเองกำลังประสบที่เจ้าตัวมองว่าไม่แฟร์และไม่เป็นธรรม
และจากการแถลงข่าวก็จะเห็นว่าคุณบิวเข้าสู่โหมด”พร้อมรบ” และต้องการจะต่อสู้เพื่อตนเองและคนรอบข้าง
ทั้งนี้ผมอยากฝากให้กับคุณบิวว่าที่ตัดพ้อว่าตนเอง “ไม่เหลืออะไร” นั้นไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว
เพราะคนเราล้วนเกิดมาตัวเปล่า ไม่มีเงินทอง ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง และพอเราตายไปก็เอาไปไม่ได้สักอย่างเช่นกัน ทุกอย่างเราเพียงแค่หยิบยืมมาใช้ชั่วคราวก่อนตายจากกันไปก็เท่านั้น สิ่งที่คุณคิดว่าสูญเสียมันล้วนไม่มีจริง (พูดง่ายๆ คือ อย่ายึดติด)
ในส่วนของภาษากายในเคสนี้ถือว่าน่าเรียนรู้ ขอบคุณแฟนคลับที่แนะนำเข้ามาครับ
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
Normalization อาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า การทำให้เป็นปกติมั้ยคะ
ขออนุญาตเสริมเรื่อง Normalization ค่ะ
“อาการที่เราเริ่มคุ้นเคย หรือเกิด “ความรู้สึกด้าน” กับ สิ่งที่เคยรู้สึกแปลกๆ หรือ สิ่งที่เคยไม่ยอมรับมาก่อน จนชักจะเห็นเป็นของธรรมดาที่พอยอมรับได้ เรียกว่า “normalization”
Normalization ในทางสังคมถือเป็นเรื่องทั้งดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งที่จะรับได้นั้นเป็นเรื่องบวกหรือลบ เช่น ยอมรับได้ว่า “ใครๆก็เป็นโรคซึมเศร้าได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย” ก็น่าจะเป็นสิ่งดี แต่ถ้าเป็นการยอมรับว่า “คนโกงคนไม่ดีก็เป็นผู้นำได้” ก็น่าจะเป็นปัญหา “(cr.จุดไม่ยืน : เรื่องของ normalization
: สุรพร เกิดสว่าง)
การพูดแบบ normalization เราขออนุญาตแปลโดยส่วนตัวว่า “การพูดเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่นอกเหนือบรรทัดฐานสังคมกลายเป็นเรื่องที่ปกติที่สังคมสามารถยอมรับได้” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ก็ตาม
ขอบคุณสำหรับความเห็นและคำแนะนำ ครับ