สิงหาคม 20, 2022

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 106 : ชัยวุฒิ คมาธนานุสรณ์ ภาษากายที่แสดงเมื่อตอบฝ่ายค้านประเด็นค่ายมือถือควบกิจการ

คุณ ชัยวุฒิ คมาธนานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ตอบฝ่ายค้านเมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่สองค่ายยักษ์มือถือจะจับมือ หรือ ฮั้วกันหรือไม่ และมีคำถามจากฝ่ายค้านในทำนองว่ารัฐบาลอยู่ฝั่งประชาชนเพื่อพยายามรักษาผลประโยชน์ หรือ แอบอยู่ตรงกันข้ามหลังม่านเพื่อเอื้อนายทุนดังที่สังคมกังวล

ในส่วนของภาษากาย เคสนี้มีจุดน่าเรียนรู้เยอะ ดังนี้

ภาษากายคือข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงเป็นชุดของข้อมูลสำคัญที่สามารถใช้ตีความว่าส่วนตัวเราจะให้ระดับความความเชื่อถือกับเหตุการณ์ที่ปรากฎอย่างไรเท่านั้น การวิเคราะห์ภาษากายจึงไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินว่าใครโกหกหรือหลอกลวง

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
Adjusting suit
Adaptor / increase blinking rate

นาที 3:22 -3:29 ตอนพูดว่า “ที่ท่านบอกว่า มีการผูกขาดหรือเอื้อผลประโยชน์เนี่ย ..ผมว่า เป็นมุมมองที่เชิงลบมากเกินไป” จะพบภาษากายหลายอย่างดังนี้

  • กลัดกระดุมสูท พฤติกรรมการจับโน่นนี่แบบผิดที่ผิดเวลามักพบได้บ่อยเวลาตื่นเต้นและประหม่า เช่น เล่นสายนาฬิกาข้อมือ แกะ หรือ ติดกระดุม หรือ ขยับเน็คไท ซึ่งในเคสนี้จะพบลักษณะของการกลัดกระดุมสูท (สงสัยกันไหมครับ ว่านั่งอยู่ตั้งนาน ทำไมไม่กลัดตอนนั่ง หรือทำที่บ้าน ?)
  • การคลึงมือนวดมือและนิ้ววนไปวนมา และไม่ได้สอดคล้องกับประเด็นที่กำลังพูดลักษณะผมจะเรียกว่ามืออารมณ์ (Adaptor บางตำราเรียก Pacifying behavior) คือการเคลื่อนไหวของมือแบบปราศจากเหตุผล แต่จะเกี่ยวโยงกับสภาวะทางจิต เช่น ประหม่า หรือ กลัว และเป็นการปลอบประโลมทางจิตให้คลายความเครียดและตื่นเต้น
  • กระพริบตาถี่ขึ้น (Increase blinking rate) สัมพันธ์กับความตื่นเต้น (Anxiety) โดยคนเราจะกระพริบตาถี่และเร็วขึ้น 5-10 เท่าขึ้นไปเมื่ออยู่ในสภาวะตื่นเต้น
Scratching philtrum
ลิ้นงู

นาที 9:50-9:52 ตอนพูดว่า “ถ้ามีราคา(ค่าบริการ)ที่สูงขึ้น รัฐบาล(*)ไม่เห็นด้วยแน่นอน นะครับ(**)”

  • จังหวะ (*)จะพบการเอามือขึ้นมาเการ่องเหนือริมฝีปากบน (Philtrum) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Facial touching หรือ ภาษากายของการเกาใบหน้า มักสัมพันธ์กับการพูดเท็จ พูดความจริงไม่ครบ ปิดบัง หรือแม้แต่การพูดความจริงที่มีความลำบากใจ ก็ล้วนสามารถพบภาษากายนี้ ทั้งนี้จะต้องแยกแยะออกจากอาการคันจากสภาวะของร่างกาย และการเกาตรง Philtrum นี้ถือมีนัยยะสำคัญสูง (Significant)
  • พบลิ้นงู (loose tongue jut) ในจังหวะ (**) เป็นภาษากายมักพบบ่อยเวลากำลังคิดหรือกำลังพูดในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่ดี และมักสัมพันธ์และพบได้บ่อยในคนที่กำลังโกหก ปิดบัง หรือเล่าความจริงที่บิดเบือน เติมแต่ง (ซึ่งล้วนก็เข้าข่ายโกหก) หรือการพูดความจริงแต่เป็นสิ่งที่ตนเองทำไม่ดีเอาไว้ (Deception) ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง 
ลิ้นงู กุมมือ และก้มหน้ามองต่ำ

นาที 10:40 พูดว่า”การขึ้นราคาไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ (*)” จะพบภาษากายดังนี้

  • การยืนกุมมือ แม้จะดูเรียบร้อย ถ่อมตัว และเป็นท่าประจำของยาม ผู้ติดตาม ลูกน้องที่เดินตามนายหรือบอดี้การ์ด แต่ก็จัดเป็น Beta personality ที่ทำให้ดูขาดความมั่นใจ และการยืนท่านี้ยังจัดว่าเป็น Blocking แบบหนึ่งซึ่งมีความหมายถึงการป้องกันและปฎิเสธ
  • การก้มหน้ามองต่ำ ในกรณีนี้อาจจะบอกยากระหว่างก้มหน้าอ่านสคริป หรือเป็น Diminished eye contact หรือเป็นทั้งคู่ เพราะเมื่อใดก็ตามเรามีสคริปก็เท่ากับเราสามารถฉกฉวยโอกาสนั้นเป็นจังหวะหลบตาได้
  • ลิ้นงู ในจังหวะ (*) อันนี้ผมอธิบายไว้ข้างต้นแล้ว และอยากเพิ่มเติมว่ามีอีกหลายจังหวะที่เขาแสดงภาษากายนี้ออกมา อยากให้ลองสังเกตกันดูเองนะครับว่าทำลิ้นงูในจังหวะไหนและกำลังพูดถึงอะไร
Cluster

นาที 13:07 ตอนพูดว่า “เขาจะฮั้วกันหรือไม่เนี่ย ผมคิดว่า….(*).. ในสภาพที่ดูตอนนี้นะฮะ ผมไม่เชื่อว่าจะฮั้วกัน ” จะพบภาษากายดังนี้

  • ลิ้นงู ในจังหวะ (*) ลิ้นงูผมอธิบายไปในข้างต้นแล้ว
  • กลืนน้ำลาย (Hard swallowing) มักพบเวลามีอาการตื่นเต้น เครียด และหวาดกลัว จึงสัมพันธ์กับการเก็บอั้นอารมณ์ลบและจะชัดเจนและถี่มากยิ่งขึ้นตามความรุนแรงของอารมณ์ สามารถอธิบายจากการร่างกายจะลดการทำงานของระบบย่อยอาหารทำให้ลดการหลั่งน้ำลายและน้ำย่อย น้ำลายจะเหนียวและข้นทำให้ต้องพยายามกลืนน้ำลายจนเห็นการเคลื่อนไหวของลูกกระเดือกที่ลำคออย่างชัดเจน พร้อมกับกล้ามเนื้อบริเวณคอจะมีการหดเกร็งกว่าในสภาวะปกติ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากความผิดปกติที่เรียกว่าภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)

สองภาษากายนี้เกิดขึ้นในจังหวะที่เขาต้องพูดประเด็นที่สำคัญมาก ๆ เสียด้วย

คำถามท้ายบทเรียน

เมื่อพิจารณาจากภาษากาย คุณให้ความน่าเชื่อถือของการตอบคำถามในเคสนี้มากน้อยแค่ไหน ?

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *