สิงหาคม 25, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 162 : เศรษฐา ทวีสิน พบ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ทำเนียบรัฐบาลครั้งแรก : ภาพจับมือ (Still image)

คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้รับโหวตเกิน 375 เสียงในการประชุมรัฐสภาและได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างเป็นทางการ และหลังจากนั้นไม่นานได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลและเข้าพบคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา

ภาษากายของผู้นำ (Leader) มีความน่าสนใจเสมอ และทำให้เราสามารถสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของความรู้สึกและอารมณ์ และในเคสนี้ก็มีสิ่งที่น่าเรียนรู้หลายอย่าง โดยภาพที่นำมาแสดงมีการเผยแพร่ผ่านสื่อของหน่วยงานรัฐและสำนักข่าวต่างๆ โดยผมจะยกภาพที่น่าสนใจมาคุยกันในบทความนี้ คือ ภาพที่ทั้งสองจับมือกัน

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
ภาพ การจับมือ

ในภาพจับมือของทั้งสองท่านสามารถอธิบายเป็นภาษากายได้ดังนี้

  • ทั้งคู่ยืนห่างกันราว 1 ช่วงแขน (ประมาน 60 cm) ซึ่งเป็นระยะที่อยู่ระหว่าง Personal space กับ Social space ตามหลัก Proxemics เป็นระยะที่พอเหมาะพอดีที่เราจับมือกับคนแปลกหน้า(โดยไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป) ระยะห่างนี้บ่งบอกได้ว่าทั้งคู่ไม่ได้สนิทชิดเชื้อ หรือ มีความสัมพันธ์เชิงเพื่อน หรือ คนรู้จักกันมาก่อน
  • ตำแหน่งของมือที่จับจะค่อนมาทางคุณเศรษฐา เป็นลักษณะการจับมือใน “เขตแดน” ของคุณเศรษฐา ในส่วนนี้จะทำให้ภาพที่ออกมาดูเสมือนว่าคุณเศรษฐามีอำนาจเหนือกว่าคุณประยุทธ์เล็กน้อย
  • และเมื่อพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบของภาพที่ทีมงานถ่ายภาพออกมา จะทำให้รู้สึกว่าคุณเศรษฐาดูเด่นกว่า เพราะอยู่เกือบตรงกลางภาพและคุณประยุทธ์อยู่รวมจนเกือบตกขอบ รวมถึงองศาของภาพที่ทำให้เห็นใบหน้าของคุณเศรษฐามากกว่าคุณประยุทธ์

    และเมื่อพิจารณาโดยรวม ภาพนี้ดูคล้ายคุณประยุทธ์เป็นแขกมาเยี่ยมบ้านคุณเศรษฐาที่เป็นเจ้าบ้าน (ซึ่งแท้ที่จริงตรงกันข้ามกันเลย)

ส่วนมือของทั้งสองท่าน ผมอยากให้มาดูภาพที่ซูมด้านล่าง

ภาพซูมของการจังมือระหว่างคุณเศรษฐา และ คุณประยุทธ์ : Weak hand shake

ในภาพซูมจะพบว่าการจับมือจะเป็นในลักษณะ “จับนิ้ว” มากกว่าจับมือ ภาษาฝรั่งจะเรียกการจับมือแบบนี้ว่า weak hand shake

เป็นการจับแบบ “ไม่เต็มมือ” คล้ายกับการยื่นนิ้วเข้าไปสัมผัสและใช้นิ้วโป้งอุ้มคีบนิ้วอีกฝ่ายไว้ ซึ่งแตกต่างกับการจับมือจริงๆ ที่เป็น strong hand shake ดังภาพด้านล่าง ที่มีลักษณะจับทั้งอุ้งมือและสัมผัสเต็มที่

Strong hand shake / Firm grip

ในภาษากาย Weak hand shake มีหลายความหมายและไม่เฉพาะเจาะจง อีกทั้งต้องพิจารณาบนพื้นฐานของวัฒนธรรมร่วมด้วยเสมอ

ถ้าอธิบายในเชิงจิตวิทยาและภาษากาย(ซึ่งมักเป็นมุมมองจากชาติตะวันตก/อเมริกาเป็นหลัก) มักตีความในแง่มุมที่ค่อนข้างเป็นลบ เช่น ไม่มั่นใจ กลัว ประหม่า ระมัดระวังตัว ไม่สนใจ ไม่จริงใจ และไม่ให้เกียรติ

ทั้งนี้ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน รวมถึงไทย การจับมือแบบบางเบาในลักษณะ Weak hand shake อาจเป็นการแสดงออกถึงความถ่อมเนื้อถ่อมตัว การให้เกียรติ สำรวมและความเคารพอย่างนอบน้อมต่ออีกฝ่าย ส่วนการจับมือแบบ strong hand shake อาจถูกมองว่าก้าวร้าว และไม่สุภาพ

และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญ จะพบว่าที่นิ้วนางของคุณประยุทธ์ มีพลาสเตอร์ปิดแผลพันอยู่ที่ปลายนิ้ว ลักษณะที่ปรากฏอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมทั้งคู่ถึงจับมือแบบ weak hand shake เพราะถ้าคนเราเจ็บนิ้วก็ย่อมมีข้อจำกัดในการจับมือทำให้ต้องจับเบา หรือ ไม่แน่น

สรุป

การจับมือมีความหมายที่กว้างและไม่ได้มีความหมายเดียวเพราะเป็นภาษากายที่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมร่วมอย่างมาก (Culture Dependent) โดยเฉพาะวัฒนธรรมฝั่งเอเชียที่มักหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายอีกฝ่าย จึงไม่แปลกที่เราอาจจะเห็นคนเอเชียจับมือในลักษณะ Weak hand shake แม้แต่คนที่เป็นผู้นำประเทศ และควร keep in mind เสมอเวลาจะตีความ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *