พฤศจิกายน 23, 2022

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 119 : คุณธรรมนัส Live สด ปฎิเสธมีเอี่ยวทุนจีนสีเทา – ลิ้นงูและ Contempt

คุณธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นทั้งอดีตข้าราชการทหาร นักธุรกิจและนักการเมือง ท่านใดติดตามข่าวการเมืองย่อมจะรู้จักคุณธรรมนัสอย่างดี ในคลิปนี้คุณธรรมนัสได้บันทึกเทปตัวเองเพื่อออกมาชี้แจงความบริสุทธิ์กรณีมีเสียงจากแหล่งข่าวบางแห่งตั้งข้อสงสัยถึงความสัมพันธ์ของคุณธรรมนัสและนักธุรกิจจีนสีเทาที่กำลังเป็นข่าว

แน่นอนว่าเกียรติและชื่อเสียงเป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องปกป้อง โดยเฉพาะบุคคลสังคมกลุ่มนักการเมืองในช่วงที่อาจจะมีการเลือกตั้งใหม่เร็ว ๆ นี้ จึงไม่แปลกที่คุณธรรมนัสจะไม่รอช้าที่จะออกมาชี้แจงและแสดงจุดยืนของตนเอง ซึ่งคลิปนี้ก็มีสิ่งที่น่าสังเกตและน่าเรียนรู้ในประเด็นของภาษากาย

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
กระพริบตาถี่ขึ้น

นาที 1:50-1:60 ช่วงที่ชี้แจงว่าคุณธรรมนัส “มีเพื่อนต่างประเทศหลากหลายสัญชาติ” จะพบการกระพริบตาที่ถี่มาก

อัตราการกระพริบตาของคนเราโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่นาทีละ 12-15 ครั้ง และจะเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าถ้าอยู่ในสภาวะที่ตื่นเต้น ทั้งนี้อาจจะต้องแยกให้ออกจากสภาวะตาแห้ง หรือ เคืองตา

การกระพริบตาที่ถี่ขึ้นหลายเท่าจึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ชัดว่าเจ้าตัวมีความตื่นเต้น แต่ตื่นเต้นจากอะไรนั้นต้องสังเกตภาษากายอื่นประกอบเพิ่ม ทั้งนี้ก็น่าตั้งข้อสงสัยไม่น้อยว่าคุณธรรมนัสมีเหตุผลใดที่จะต้องตื่นเต้น ?

นาที 2:09 พูดว่า “ผมไม่ได้ทำธุรกิจกับคนพวกนี้ (*)”

จังหวะ (*)จะพบภาษากายที่ชื่อว่า “ลิ้นงู” หรือ Loose tongue jut

ลิ้นงู เป็นภาษากายมักพบบ่อยเวลากำลังคิดหรือกำลังพูดในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่ดี และมักสัมพันธ์และพบได้บ่อยในคนที่กำลังโกหก ปิดบัง หรือเล่าความจริงที่บิดเบือน เติมแต่ง (ซึ่งล้วนก็เข้าข่ายโกหก) หรือการพูดความจริงแต่เป็นสิ่งที่ตนเองทำไม่ดีเอาไว้ (Deception) ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง 

ทั้งนี้หลายคนมักจะวิเคราะห์ผิดว่า ลิ้นงู = โกหก ซึ่งผมไม่แนะนำให้วิเคราะห์ภาษากายแบบนั้น แต่จะต้องดูองค์ประกอบอื่นผสมไปด้วยโดยเฉพาะการวิเคราะห์เป็น Cluster หลายครั้งลิ้นงูไม่ได้แปลว่าโกหกโดยตรงเสมอไป

นาที 2:12 – 2:17 ในช่วงระยะเวลา 5 วินาทีตรงนี้มีการตัดต่อถึง 2 ครั้ง (Jump cut) เป็นจังหวะที่เจ้าตัวอธิบายว่าทำธุรกิจอะไร กับใคร

ใน VDO ที่ต้องการอัดเพื่อทำการชี้แจงประเด็นใด ๆ โดยเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหว (Sensitive) ผมมีความเห็นว่าไม่ควรมีการตัดต่อ

เพราะถ้ามีการตัดต่อบ่อย ๆ จะส่งผลเสียอาจทำให้คนดูเข้าใจผิดว่าต้องการปกปิด หรือ ปิดบัง อะไร และมักอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดถึงต้องมีการตัดต่อ ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงและในเคสนี้จะพบว่าตัดต่อได้ไม่ค่อยเรียบร้อยไม่ต่อเนื่อง ขาด ๆ เกิน ๆ

คุณธรรมนัส ต้องการชี้แจงว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้ทำธุรกิจใด ๆ กับทุนจีนที่กำลังเป็นข่าว แต่กลับพบมีการตัดต่อในช่วงที่กำลังอธิบายเนื้อหาสำคัญ ทำให้ VDO นี้ขาดความรู้สึกโปร่งใสและจริงใจไปพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับการอัดเป็นคลิปเดียวจบโดยปราศจากการตัดต่อ

Contempt

ช่วงท้ายนาที 2:44 “สำนักข่าวบางสำนักที่เอาผมไปวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหาย(*)”

ในจังหวะ (*) จะพบสีหน้า (Facial expression) ของ Contempt หรือ แปลไทย ๆ คือ สีหน้าสะใจ หรือดูถูก รอยยิ้มจะเป็น insincere smile ที่มักเรียกว่า smug smile ซึ่งภาษากายนี้ก็ล้อไปกับบริบทที่พูดอย่างเหมาะเจาะที่คุณธรรมนัสเพิ่งเชิงเตือนนักข่าวว่าอาจจะถูกเขาดำเนินคดีจนขึ้นโรงขึ้นศาลได้ ก็ถือว่าสะท้อนอารมณ์ในสิ่งที่พูดได้ชัดเจน

สรุป

การชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเฉพาะการต้องการแก้ข่าว หรือ แก้ต่าง ควรจะต้องซักซ้อมและระวังภาษากายให้มาก การพูดที่สุจริตจริงใจจะต้องควบคู่กับภาษากายที่สุจริตจริงใจ เพราะถ้าเมื่อใดภาษากายและภาษาพูดมีความขัดกันย่อมทำให้ผู้รับสารเกิดความระแวงและสงสัย และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในประเด็นที่กำลังสื่อสาร ภาษากายจึงสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะอาชีพและสถานะที่ต้องรักษาความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงไว้ในระดับสูง เช่น นักการเมือง

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *